Translate

อาหารสำหรับนกกระจอกเทศ และปัญหาในการเลี้ยง

การให้อาหารนกกระจอกเทศอย่างถูกวิธี
นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
โดยธรรมชาติของนกกระจอกเทศแล้วเป็นสัตว์กินพืช โดยกระเพาะของนกกระจอกเทศจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกที่เป็นกระเพาะบดอาหารจะมีลักษณะเหมือนกระเพาะไก่ และถัดมาจะเป็นกระเพาะพักอาหาร ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วไป เช่น โค กระบือ ดังนั้นอาหารของนกกระจอกเทศ จึงควรเป็นพืช ผัก หญ้า และสัตว์เล็กๆ น้อย ๆ เช่น จิ้งจก ลูกกบ หรือแมลงต่างๆ นอกจากนี้ นกกระจอกเทศยังจิกกินก้อนหิน ก้อนกรวด หรือหินเกล็ดเล็ก ๆ เพื่อช่วยในการบดย่อยอาหารที่บริเวณกระเพาะบดอีกด้วย
นกกระจอกเทศ

สำหรับผู้เลี้ยงนกกระจอกเทศในระบบฟาร์ม ควรตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องอาหารของนกกระจอกเทศให้มาก โดยผู้เลี้ยงจะต้องคำนวณปริมาณอาหารให้ตรงตามความต้องการของนกกระจอกเทศในแต่ละช่วงอายุให้ดี และอาหารสำหรับนกกระจอกเทศ จะต้องมีแร่ธาตุอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม และไม่ว่าจะเป็นนกกระจอกเทศพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือนกกระจอกเทศที่เป็นวัยรุ่นไปจนถึงวัยโต จะต้องเอาหญ้า  หรือผัก  สับ หั่น แยกเอาไว้ให้นกกระจอกเทศได้จิกกินด้วยเสมอ  เพื่อเพิ่มวิตามิน เกลือแร่ ให้แก่นกกระจอกเทศอย่างสมบูรณ์เต็มที่ และที่ลืมไม่ได้ก็คือน้ำสะอาดจะต้องมีให้นกกระจอกเทศดื่มกินอย่างพอเพียง และต้องมีอยู่ตลอดเวลาด้วย เพราะนกกระจอกเทศ เป็นนกที่ดื่มน้ำมากเป็นพิเศษ คือประมาณวันละ 9 -12 ลิตร ยิ่งหากมีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวแล้ว นกกระจอกเทศก็ยิ่งจะดื่มกินน้ำมาก ผู้เลี้ยงจึงต้องเตรียมภาชนะใส่น้ำไว้ให้เพียงพอ เพื่อนกกระจอกเทศจะได้ดื่มกินสะดวก

สุดท้ายแม้นกกระจอกเทศจะเกิดมาเป็นสัตว์ทะเลทรายที่ธรรมชาติช่วยดูแลก็ตาม แต่เมื่อเรานำเอามาเลี้ยงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ว่าจะเป็นในเชิงธุรกิจ หรือในเชิงเศรษฐกิจเช่นนี้ ยิ่งจะต้องดูแลให้ดีเป็นพิเศษครับ เพื่อความสมบูรณ์ แข็งแรง เพื่อสุขภาพที่ดี และผลผลิตก็จะดีตามมาด้วย

ปัญหาในการเลี้ยงนกกระจอกเทศ
นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
ในการเลี้ยงนกกระจอกเทศในช่วงระยะ 1-3 เดือนแรก ถือเป็นช่วงที่มีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาการตายของลูกนกกระจอกเทศ แต่หากผู้เลี้ยงทำตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้องแล้ว ปัญหาการตายของลูกนกก็จะลดลงด้วย โดยปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุหลักมากจากการกินอาหารผิดประเภท เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของลูกนกกระจอกเทศวัยนี้ยังอ่อนแอ ทั้งนี้ผู้เลี้ยงจะต้องฝึกให้ลูกนกระจอกเทศรู้ว่า แหล่งอาหารอยู่ตรงไหน วางอาหารไว้ที่ไหน เพื่อป้องไม่ให้นกกระจอกเทศไปกินหญ้าหรือกินดินแทน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อระบบย่อยอาหารของลูกนก จนถึงขั้นตายได้


ข้อมูลภาพ: Google
ที่มา: นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับที่ 74 เดือนเมษายน ปี 2544

การเลี้ยงนกกระจอกเทศ (พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ )

การเลี้ยงนกกระจอกเทศพ่อพันธุ์- แม่พันธุ์ ( อายุ 2 ปีขึ้นไป )
นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
นกกระจอกเทศที่เจริญเติบโตเต็มวัย เหมาะที่จะเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ได้ ก็ต่อเมื่อนกกระจอกเทศเพศเมียมีอายุ 2 ปีขึ้นไป และนกกระจอกเทศเพศผู้มีอายุ 2.5 ปีขึ้นไป ระยะนี้ต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง จึงจะให้ผลผลิตเนื้อ และการผสมพันธุ์ที่สมบูรณ์ได้ หากเราเลี้ยงดูแลอย่างดีทุกขั้นตอนแล้ว นกกระจอกเทศจะให้ผลผลิตไข่ติดต่อกันได้นานถึง 40 ปี (อัตราส่วนของคู่ที่ใช้ผสมพันธุ์ คือ เพศผู้ 1 ตัว ต่อเพศเมีย 1-3 ตัว)
การเลี้ยงนกกระจอกเทศ


ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ดี และเพื่อผลผลิตที่สมบูรณ์และสม่ำเสมอของนกกระจอกเทศ ผู้เลี้ยงจึงควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ควรให้อาหารที่ประกอบด้วยโปรตีน 15 - 17 % พลังงาน 2,300 - 2,600 กิโลแคลลอรี่ แคลเซี่ยม 18 % ฟอสฟอรัส 0.9 % วันละ 1-3 กิโลกรัมต่อตัว และควรเสริมด้วยหญ้า นอกจากนี้ผู้เลี้ยงจะต้องมีหินเกล็ดตั้งไว้ให้นกจิกกินด้วย เพื่อช่วยในการย่อยอาหารของนก

2. ผู้เลี้ยงควรหมั่นทำความสะอาดภาชนะที่ใส่น้ำและอาหารของนกกระจอกเทศทุกวัน และมีน้ำตั้งไว้ให้นกกินอยู่ตลอดเวลา

3. ในระยะนี้ผู้เลี้ยงนกกระจอกเทศควรจัดพื้นที่ให้เหมาะสม โดยใช้อัตราส่วนพื้นที่ภายในโรงเรือนตัวละ 5-8 ตารางเมตร และบริเวณลานวิ่งเล่นของนกกระจอกเทศ (นอกโรงเรือน) ตัวละ 400-500 ตารางเมตร และควรเลี้ยงฝูงละประมาณ 2 - 4 ตัว (เพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 1-3ตัว) ก็พอ

4. ควรเก็บไข่นกกระจอกเทศที่ฟักแล้วออกทุกวัน และนำไปรวบรวมไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรอการเข้าตู้ฟัก แต่มีเคล็ดลับอย่างหนึ่งก็คือ ผู้เลี้ยงจะต้องมีไข่ปลอมวางไว้เพื่อเป็นอุบายให้แม่นกกระจอกเทศวางไข่ติดต่อไปเรื่อยๆ และควรขังนกกระจอกเทศไว้ด้านนอกโรงเรือนก่อนที่จะเก็บไข่ออก เพราะนกกระจอกเทศช่วงผสมพันธุ์จะดุร้ายมาก อาจทำอันตรายผู้เลี้ยงได้

5. หมั่นตรวจสุขภาพนกกระจอกเทศทุกวัน หากมีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติต้องรีบแก้ไขในทันที

6. หมั่นตรวจดูสภาพภายในโรงเรือนเป็นประจำทุกวัน หากอุปกรณ์ชิ้นใดชำรุดเสียหาย จะต้องรีบซ่อมแซม หรือแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ทันที


7. ควรจดบันทึกการให้ผลผลิต การตาย การกินอาหาร การให้ยา รวมถึงการให้วัคซีนต่าง ๆ ของนกกระจอกเทศ เป็นประจำทุกวัน

ข้อมูลภาพจาก:Google

การเลี้ยงนกกระจอกเทศ (ช่วงอายุ 4 - 23 เดือน)

การเลี้ยงนกกระจอกเทศ ในช่วงอายุ  4 - 23 เดือน
นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
ในช่วงระยะนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่นกกระจอกเทศเจริญเติบโตเร็วมาก น้ำหนักตัวในระยะนี้มักจะไม่สมดุลกับขาของตัวนก เพราะขาที่มีขนาดเล็กมาก ระยะนี้นกกระจอกเทศจึงมักจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับขาที่รับน้ำหนักไม่ไหว หรือขาผิดปกติอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับผู้ที่เลี้ยงดูแลนกกระจอกเทศในช่วงระยะนี้ จะมีขั้นตอนการจัดการดูแลดังนี้

1. อาหารที่ให้สำหรับนกกระจอกเทศในระยะนี้ จะประกอบด้วยพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี่ โปรตีน 18% แคลเซียม 1.6% ฟอสฟอรัส 0.8% และควรเสริมด้วยหญ้าแห้งหรือหญ้าสด นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงควรควบคุมน้ำหนักตัวของนกกระจอกเทศ อย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป เพราะขาของนกกระจอกเทศในระยะนี้ยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวของนกกระจอกเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้

2. ผู้เลี้ยงควรควบคุมการระบายอากาศภายในโรงเรือน ส่วนบริเวณที่ให้นกกระจอกเทศเดินเล่น ซึ่งเป็นบริเวณภายนอกโรงเรือน ผู้เลี้ยงจะต้องระมัดระวังอย่าให้มีเศษวัสดุ เช่น เศษไม้ เศษผ้า เหล็ก ตะปู ฯลฯ ตกหล่นอยู่ เพราะนกกระจอกเทศจะจิกกิน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อนกกระจอกเทศได้ และควรจัดอัตราส่วนพื้นที่ให้เหมาะสมกับจำนวนนกกระจอกเทศ โดยกำหนดพื้นที่ให้ตัวละ 1.5 ตารางเมตร (บริเวณที่เป็นโรงเรือน) และบริเวณด้านนอกซึ่งเป็นที่วิ่งเล่นของนกกระจอกเทศอย่างน้อยต้องมีพื้นที่ตัวละ 200 ตารางเมตร นอกจากนี้ผู้เลี้ยงไม่ควรเลี้ยงนกกระจอกเทศให้อยู่รวมเป็นฝูงเดียวกันมากกว่า 40 ตัว

3. ควรเพิ่มจำนวนภาชนะใส่น้ำและอาหารให้เหมาะสมกับจำนวนของนกกระจอกเทศ และผู้เลี้ยงควรทำความสะอาดภาชนะที่ใส่น้ำและอาหารเป็นประจำทุกวัน และในเวลากลางคืนไม่ควรให้แสงสว่างมากนัก เพราะแสงสว่างตามธรรมชาติที่นกกระจอกเทศได้รับ ก็เพียงพออยู่แล้ว และสุดท้ายอย่าลืมทำบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับอัตราการตาย การกินอาหาร การเจริญโตและอาการผิดปกติต่างๆดของนกกระจอกเทศไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการดูแลและแก้ไข เมื่อเกิดปัญหาขึ้น


ที่มา: นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับที่ 74 เดือนเมษายน ปี 2544

การเลี้ยงนกกระจอกเทศเล็ก (อายุ 1-3 เดือน)

การดูแลนกกระจอกเทศ  ในช่วงอายุ 1 – 3 เดือน
นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
ในการเลี้ยงนกกระจอกเทศทุกขั้นตอน ผู้เลี้ยงต้องพิถีพิถันสักหน่อยนะครับ เพราะในช่วงระยะนี้ลูกนกค่อนข้างตกใจง่าย และในบทความนี้ก็มีหลักปฏิบัติสำหรับผู้เลี้ยงนกกระจอกเทศ ไว้ดังต่อไปนี้

1. ในการยกเครื่องกกลูกนกกระจอกเทศออก ต้องยกออกด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ลูกนกตกใจ และควรสังเกตอาการของลูกนกกระจอกเทศด้วย หากพบว่าผิดปกติ ต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยทันที

2. ควรทำความสะอาดภาชนะที่ใส่อาหารของนกกระจอกเทศ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ส่วนภาชนะที่ใส่น้ำ ควรทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และต้องมีน้ำให้นกกระจอกเทศกินตลอดเวลาด้วย ส่วนการให้อาหารลูกนกกระจอกเทศ ควรให้ครั้งละน้อย ๆ ก็พอ แต่จะให้วันละ 4 - 5 ครั้ง

3. เมื่อลูกนกกระจอกเทศแข็งแรงและสมบูรณ์ดีแล้ว ควรปล่อยให้ลูกนกได้ออกไปเดินเล่นข้างนอกโรงเรือนอนุบาลบ้าง เพราะจะทำให้ลูกนกแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และควรหมั่นตรวจสุขภาพของลูกนกกระจอกเทศเป็นประจำทุกวัน ตลอดจนจัดการด้านสภาพแวดล้อมให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการระบายอากาศ ตลอดถึงวัสดุรองพื้นต้องให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ

4. ผู้เลี้ยงควรจดบันทึกอัตราการตาย การกินอาหาร การให้ยาหรือวัคซีน และอัตราการเจริญเติบโต ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่เป็นของนกกระจอกเทศ เพื่อประโยชน์ในการดูแลและแก้ไข เมื่อเกิดปัญหาขึ้น


ที่มา: นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับที่ 74 เดือนเมษายน ปี 2544

การเลี้ยงลูกนกกระจอกเทศ (ช่วงอายุ 0-4 สัปดาห์)

การอนุบาลลูกนกกระจอกเทศ ในช่วงอายุ 0-4 สัปดาห์
นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
สำหรับการเลี้ยงลูกนกกระจอกเทศในระยะนี้ ต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นดังนี้ เครื่องฟักไข่ อุปกรณ์สำหรับให้น้ำ ให้อาหารและวัสดุรองพื้นเป็นต้น และที่สำคัญอุปกรณ์ดังกล่าวจะต้องสะอาด และผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว และต้องตรวจสอบการทำงานของเครื่องกกลูกนกให้เรียบร้อย ก่อนการใช้งานจริงอย่างน้อย 24 ชั่วโมง) มีข้อปฏิบัติในการดูแลลูกนกกระจอกเทศ ไว้ดังนี้

1. ต้องเปิดสวิทซ์ไฟเครื่องกกลูกนกประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง และตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 90 - 95 องศาฟาร์เรนไฮต์ ก่อนจะนำลูกนกกระจอกเทศเข้ามากก

2. ผู้เลี้ยงต้องเติมวิตามินในน้ำสำหรับเลี้ยงลูกนกกระจอกเทศ ก่อนที่จะให้ลูกนกกินประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำให้มีความใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อม และให้ลูกนกกินน้ำผสมวิตามินอย่างต่อเนื่องประมาณ 10-14 วัน

3. ในช่วงอายุ 2-3 วันแรกของนกกระจอกเทศ อาจจะไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกนกกระจอกเทศ ดูดซึมอาหารและย่อยไข่แดงหมดเสียก่อน จากนั้นจึงให้อาหารข้นที่มีโปรตีน 20 – 22 % พลังงาน 2,700 กิโลแคลอรี่ แคลเซี่ยม 1.4 % ฟอสฟอรัส 0.7% หลังจากนั้น 7-10 วัน อาจให้หญ้าสดที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ แก่ลูกนกกระจอกเทศเพิ่มขึ้นด้วย

4. ในระยะแรกลูกนกกระจอกเทศอาจจะยังไม่รู้จักอาหารและน้ำ ผู้เลี้ยงควรนำลูกนกกระจอกเทศไปยังที่ให้น้ำ แล้วจับปากจุ่มน้ำ 2-3 ครั้ง นิสัยโดยทั่วไปของนกกระจอกเทศเป็นสัตว์ที่ร่าเริง ดังนั้นอาจจะใส่ลูกบอลพลาสติก ลูกปิงปอง หรือลูกกอล์ฟ ในภาชนะให้อาหาร เพื่อให้ลูกนกกระจอกเทศเล่นไปด้วย จิกกินอาหารไปด้วย วิธีนี้จะทำให้ลูกนกกระจอกเทศกินอาหารได้มากยิ่งขึ้น

5. ควรขยายพื้นที่บริเวณที่ใช้กกลูกนกออกทุก ๆ 3 - 4 วัน อันนี้ขึ้นกับสภาพอากาศ และควรลดอุณหภูมิในบริเวณที่ใช้กกลูกนก ครั้งละ 5 องศาฟาเรนโฮต์ โดยจะใช้เวลากกลูกนกกระจอกเทศประมาณ 8 สัปดาห์ ทั้งนี้ให้สังเกตความสมบูรณ์ของลูกนกกระจอกเทศด้วย

6. ในระยะแรก นกกระจอกเทศจะมีอัตราการเติบโตประมาณเดือนละ 1 ฟุต จนกระทั่งนกกระจอกเทศสูงถึง 5 - 6 ฟุต จึงจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่น้อยกว่า 1 ฟุตต่อเดือน

7. ในระยะ 4 สัปดาห์แรกควรให้แสงสว่างในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยลดระยะเวลาในการให้แสงสว่างลง เหลือ 20 - 23 ชั่วโมงต่อวัน และหมั่นตรวจดูวัสดุรองพื้นอยู่เสมอ ไม่ให้ชื้นแฉะ หรือแข็งเป็นแผ่น หรือมีกลิ่นเด็ดขาด หากมีต้องรีบแก้ไข และควรสังเกตอุจจาระของนกกระจอกเทศตลอดเวลา เพราะตามปกติของนกกระจอกเทศแล้ว จะถ่ายอุจจาระอ่อน ไม่แข็งแห้ง ปัสสาวะจะต้องเป็นน้ำใส ไม่เหนียว หรือขุ่นข้น

8. เมื่อนกกระจอกเทศแสดงอาการผิดปกติ ผู้เลี้ยงจะต้องรีบหาสาเหตุ และควรเอาใจดูแลใส่เรื่องสุขาภิบาลของนกกระจอกเทศ เพื่อหาทางแก้ไขโดยด่วน ต่อไป


ที่มา: นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับที่ 74 เดือนเมษายน ปี 2544

การผสมพันธุ์ของนกกระจอกเทศ

การผสมพันธุ์ และการวางไข่ของนกกระจอกเทศ : สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
นกกระจอกเทศตัวเมียที่เจริญเติบโต และมีความสมบูรณ์เต็มที่ เต็มวัย มีความพร้อม และเหมาะสม หรือพร้อมที่จะเป็นแม่พันธุ์จะอยู่ในช่วงอายุ 18 เดือน ส่วนนกกระจอกเทศตัวผู้ จะอยู่ในช่วงอายุ 24 เดือน แต่การผสมพันธุ์ไม่สามารถกระทำได้ทันทีนะครับ คือจะต้องปล่อยให้นกกระจอกเทศทั้งคู่อยู่ด้วยกันประมาณ 6 เดือนก่อน และในการจัดผสมพันธุ์ของนกกระจอกเทศ จะต้องแยกเป็นคู่ ๆ ภายในคอก ซึ่งล้อมด้วยตาข่ายเหล็กสูงประมาณ 1 เมตรเศษ และในโรงเรือนของนกกระจอกเทศ ควรจะปรับสภาพหน้าดินให้เป็นพื้นทรายไว้ เมื่อแม่นกกระจอกเทศออกไข่ ก็จะสามารถนำไข่มาเข้าตู้ฟักได้เลย และที่สำคัญผู้เลี้ยงจะต้องคอยสังเกตดูพฤติกรรมของนกกระจอกเทศให้ดีว่า พ่อแม่พันธุ์ของนกกระจอกเทศคู่ใดที่สามารถเข้าคู่กันได้ดี จึงเหมาะที่จะนำมาตรวจสอบสายพันธุ์ เพราะนกกระจอกเทศทั้งสองตัวจะต้องไม่มีสายเลือดเดียวกันอย่างเด็ดขาด โดยนกกระจอกเทศทุกตัวจะต้องมีเบอร์ติดที่คอ มีการทำประวัติ และฝังไมโครชิบไว้ตั้งแต่อายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น

การวางไข่ของนกกระจอกเทศ

นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ
หลังจากที่นกกระจอกเทศผสมพันธุ์กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แม่นกจะยังอาศัยอยู่ในโรงเรือนก่อน) ผู้เลี้ยงนกกระจอกเทศก็จะสามารถนำไข่มาเข้าตู้ฟักได้ทันที

ข้อควรรู้เกี่ยวกับแม่นกกระจอกเทศ
1. แม่นกกระจอกเทศตัวที่แข็งแรง สมบูรณ์เต็มวัย สามารถให้ไข่สูงสุดประมาณ 80 ฟองต่อปี แต่ถ้าแม่นกมีอายุมากขึ้น แม่นกกระจอกเทศก็จะให้ไข่ในปริมาณที่น้อยลงตามวัยที่มากขึ้นด้วย
2. แม่นกกระจอกเทศที่มีการเจริญเติบโต สมบูรณ์เต็มวัย สามารถให้ไข่ได้ดีที่สุดในช่วงอายุ 5-10 ปี
3. ตามข้อมูลผู้เพาะเลี้ยงในต่างประเทศพบว่า แม่นกกระจอกเทศสามารถให้ไข่ได้จนถึงอายุ 40 ปี

ระยะเวลาการฟักไข่ของนกกระจอกเทศ

นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ
หลังจากที่แม่นกกระจอกเทศให้ผลผลิตไข่แล้ว ผู้เลี้ยงจะนำไข่ของนกกระจอกเทศเข้าตู้ฟัก ลูกนกกระจอกเทศที่ฟักเป็นตัวแล้วจะถูกแยกมาเลี้ยงในโรงเรือนอนุบาลลูกนกประมาณ 1 เดือน ถึงจะปล่อยไปอยู่รวมกันด้านนอก ที่เป็นโรงเรือนเลี้ยงลูกนกจนอายุครบ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะแยกไปอยู่อีกโรงเรือนหนึ่ง พอนกกระจอกเทศอายุครบ 6 เดือน ก็จะย้ายไปเลี้ยงรวมกันกับนกกระจอกเทศตัวอื่นๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ ซึ่งมีอายุประมาณ 18 - 24 เดือน จึงจะแยกนกกระจอกเทศออก และเลี้ยงเป็นคู่ๆ เพื่อให้ผสมพันธุ์กันต่อไป

ที่มา: นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับที่ 74 เดือนเมษายน ปี 2544

สายพันธุ์นกกระจอกเทศ

สายพันธุ์ของนกกระจอกเทศ
การเลี้ยงนกกระจอกเทศ : สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
ในปัจจุบันนกกระจอกเทศเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และเป็นที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมาก เพราะอวัยวะทุกส่วนของนกกระจอกเทศสามารถนำมาทำประโยชน์ได้ทั้งหมด เช่น นำหนังนำมาผลิตกระเป๋า และเข็มขัด ขนของนกกระจอกเทศนำมาทำเครื่องประดับ หรือแม้แต่น้ำมันของนกกระจอกเทศก็ยังนำมาสกัดใช้ประโยชน์ได้
นกกระจอกเทศพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ หรือในเชิงเศรษฐกิจ มีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ

1. นกกระจอกเทศ: พันธุ์คอแดง
นกกระจอกเทศสายพันธุ์นี้จะมีผิวหนังสีชมพูเข้ม ตัวผู้จะมีขนสีดำตลอดลำตัว ยกเว้นปลายหาง และมีปีกสีขาว ส่วนนกกระจอกเทศตัวเมียจะมีขนสีน้ำตาลเทา นกกระจอกเทศพันธุ์คอแดงเป็นนกกระจอกเทศที่มีขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตเนื้อมากแต่จะมีไข่น้อย ตัวผู้จะมีนิสัยดุร้ายมาก โดยเฉพาะในช่วงผสมฤดูพันธุ์

2. นกกระจอกเทศ: พันธุ์คอดำ
นกกระจอกเทศสายพันธุ์นี้ ผิวจะมีสีเทาดำ เท้าและปากมีสีดำ เป็นนกกระจอกเทศที่ตัวเล็ก ให้ผลผลิตเนื้อน้อย มีนิสัยเชื่องไม่ดุร้าย และเป็นนกกระจอกเทศสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในเมืองไทยมากที่สุด

3. นกกระจอกเทศ: พันธุ์คอน้ำเงิน

นกกระจอกเทศสายพันธุ์นี้ มีผิวหนังสีฟ้าอมเทา มีสีขนเหมือนกับนกกระจอกเทศพันธุ์คอแดง แต่ตัวจะเล็กกว่าเล็กน้อย เป็นนกกระจอกเทศสายพันธุ์ที่ให้เนื้อน้อยกว่าพันธุ์คอแดง แต่จะให้ผลผลิตไข่ในปริมาณที่มากกว่านกกระจอกเทศพันธุ์คอแดง

อาชีพเลี้ยงปูนาในเชิงเศรษฐกิจ

ปูนา: สัตว์เศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

สัตว์เศรษฐกิจ
สัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างพอเพียง และมีวิธีการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยาก แถมราคาก็เป็นที่น่าพอใจอีกชนิด ที่จะมาแนะนำในบทความนี้ก็คือ การเลี้ยงปูนาครับ
ปูนาเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีกระดองแข็งหุ้มลำตัวไว้ ลักษณะกระดองจะเป็นรูปไข่ บางตัวมีสีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลปนม่วง มีตา 2 ตา ที่สามารถยกขึ้นลงไปมาในหลุมเบ้าตาได้อย่างอิสระ และเหนือเบ้าตาจะมีปุ่มเล็ก ๆ ข้างละปุ่มและมีปากอยู่ระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง มีขา 5 คู่ โดยขาคู่แรกของปูนาจะมีขนาดใหญ่ เรียกว่าก้ามปู และก้ามของปูตัวผู้จะใหญ่กว่าก้ามของตัวเมียเอาไว้สำหรับจับสัตว์ที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร ก้ามซ้ายและก้ามขวาจะใหญ่ไม่เท่ากัน และมักจะใหญ่สลับข้างกัน
โครงสร้างหลักของปูนาโดยทั่วไปมี 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง โดยส่วนท้องของปูนาจะมีลักษณะคล้ายแผ่นกระเบื้องเรียงต่อกันอยู่ 7 แผ่น เรียกว่าจับปิ้ง โดยจับปิ้งของปูตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าของตัวเมีย ซึ่งมีลักษณะกลมและกว้างเอาไว้สำหรับเก็บไข่และลูกปู แต่ส่วนปลายของจับปิ้งจะใช้เป็นช่องเพื่อการขับถ่าย ตามปกติทั่วไปแล้ว ปูนาชอบขุดรูในทุ่งนา บนคันนา หรือคันคลองใกล้บริเวณแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร
การเลี้ยงปูนา:สัตว์เศรษฐกิจ

การผสมพันธุ์ของปูนา
สัตว์เศรษฐกิจ
โดยส่วนใหญ่แล้วการผสมพันธุ์ของปูนาจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน คือ ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม โดยปูตัวเมียจะหงายส่วนท้องขึ้นและเปิดจับปิ้งออก จากนั้นปูตัวผู้ก็จะสอดขาเข้าไปในส่วนท้องของปูตัวเมีย เพื่อปล่อยน้ำเชื้อไปเก็บไว้บริเวณถุงเก็บน้ำเชื้อที่อยู่ระหว่างจับปิ้งกับอวัยวะช่วยผสมพันธุ์ ในการผสมพันธุ์ปูจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง และปูตัวเมียสามารถเก็บน้ำเชื้อตัวผู้ที่มีชีวิตอยู่ได้นาน ประมาณ 3 - 4 เดือน และแล้วปูตัวเมียก็จะเริ่มมีไข่ในท้องประมาณ 600 - 700 ฟอง ในการจับคู่ผสมพันธุ์ของปูจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ระหว่างนี้ปูตัวผู้จะยังคงเกาะบนหลังของปูตัวเมียอยู่ตลอด นัยว่า..เพื่อให้ความคุ้มครองจนกว่าปูตัวเมียจะแข็งแรงและสามารถดำรงชีพได้อย่างปกติ แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคมเป็นช่วงฤดูจำศีลของปู โดยปูนาจะอยู่ในรู ไม่กินอาหาร ไม่เคลื่อนไหวถ้าไม่จำเป็น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน แต่ปูนาจะขึ้นจากรูออกมาหากินอีกครั้งเมื่อมีอาหารอุดมสมบูรณ์ และจะเริ่มกลับมาผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝน

การเลี้ยงปูนาในเชิงเศรษฐกิจ
การเลี้ยงปูนามีเทคนิคการเลี้ยงที่ง่าย ๆ โดยรวมแล้วก็เหมือนการเลี้ยงปูม้าหรือปูทะเลโดยทั่วไป ไม่มีอะไรยุ่งยากเท่าไรนัก เกษตรผู้เลี้ยงจะใช้บ่อดิน หรือบ่อซีเมนต์ก็ได้ แต่ถ้าหากเลี้ยงในบ่อดินควรล้อมตาข่ายเสริมเพื่อป้องกันปูหนีออกนอกบ่อ แต่เพื่อความสะดวกในการจัดการ ขอแนะนำให้เลี้ยงในบ่อซีเมนต์จะดีกว่า เทคนิคสำคัญในการเลี้ยงปูนา ก็คือ ในบ่อเลี้ยงปูนาประมาณ 3/4 ของพื้นที่บ่อ ควรให้มีดินสูงประมาณ 25 - 30 เซนติเมตรเพื่อให้ปูได้ขุดรูอยู่อาศัย โดยทำส่วนที่เป็นดินให้ลาดเอียงเข้าหาอีกส่วนหนึ่งที่เป็นน้ำของบ่อเลี้ยง เมื่อเตรียมบ่อเลี้ยงได้ดังนี้แล้ว ก็นำลูกปูมาใส่บ่อเลี้ยงให้อาหารตามปกติ โดยในช่วง 15 วันแรกของการอนุบาลลูกปูควรให้อาหารจำพวก ไรแดง หนอนแดง เทา หรือไข่ตุ๋น ก่อน หลังจากนั้นให้ที่เป็นปลาหรือกุ้งสับละเอียด และให้อาหารเม็ด (ที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุก) ตามลำดับ เมื่อปูนามีอายุประมาณ 30 วันให้นำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ที่เตรียมไว้ ในปริมาณ 10,000 ตัวต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ทั้งนี้ก็เพื่อความสมบูรณ์ และเจริญเติบโตอย่างเต็มที่
ราคาปูนา

ในช่วงฤดูฝนราคาจะอยู่ที่ 10 -15 บาท ต่อกิโลกรัม แต่บางพื้นที่ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 35 บาท ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่ปูนาหายาก (ช่วงหน้าหนาว) ขายได้ในราคาตัวละ 1 บาท และช่วงนี้เองที่ราคาปูนาจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 50 บาท.

ผลผลิตจากกวาง

การเลี้ยงกวาง: สัตว์เศรษฐกิจ

ผลผลิตจากกวาง
การเลี้ยงกวางในเชิงธุรกิจ หรือในด้านเศรษฐกิจ โดยจุดประสงค์หลักแล้ว ก็เพื่อการจำหน่ายพันธุ์กวางและเนื้อกวางเป็นหลัก ส่วนเขากวางอ่อน หนังกวาง และอวัยวะอื่น ๆ จะเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น โดยรายได้หลักจะมาจากการจำหน่ายพันธุ์กวาง เนื่องจากกวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสมบูรณ์พันธุ์ค่อนข้างสูง โดยแม่กวาง 1 ตัว จะให้ลูกกวาง 1 ตัวต่อปี ทำให้ขยายพันธุ์ได้เร็ว

ผลผลิตเนื้อกวาง
เนื่องจากการเลี้ยงกวาง จะใช้พ่อพันธุ์คุมฝูงจำนวนไม่มาก กวางตัวผู้ที่เหลืออาจจะนำเข้าขุนเพื่อจำหน่ายเนื้อแทน ซึ่งเนื้อกวางเป็นที่ยอมรับว่า เป็นเนื้อที่มีคุณภาพมีไขมันค่อนข้างต่ำ และมีไขมันอิ่มตัวอยู่น้อยมาก เนื้อกวางจะมีสีแดงคล้ำกว่าเนื้อชนิดอื่น เนื่องจากมีธาตุเหล็กสูง เส้นใยกล้ามเนื้อมีความละเอียด เนื้อจึงมีความนุ่ม อร่อย

ผลผลิตเขากวางอ่อน 
ในเขากวางอ่อนจะมีสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่จำนวนมาก มีการใช้เขากวางอ่อนเป็นยาสมุนไพรเพื่อบำรุงสุขภาพ เพราะเขากวางอ่อนพบว่า มีสารอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ดังนี้
1. ในเขากวางอ่อนจะมีกรดอะมิโนที่จำเป็น  8 ชนิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย
2. ในเขากวางอ่อนจะมีกรดไขมันที่จำเป็น ที่ช่วยลดคลอเลสเตอรอลในร่างกายได้   
3. ในเขากวางอ่อนจะมี Glanglioside Lecithin Phospholipid  ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านความจำและการเรียนรู้
4. Prostaglandins ช่วยให้กระบวนการเมตาบอลิซึมของไขมันเป็นไปอย่างปกติ และช่วยยับยั้งการอักเสบของเนื้อเยื่อได้   
5. ฮอร์โมน  Insulin like growth factor 1 ช่วยยับยั้งเนื้องอก และยับยั้งอิทธิพลของเชื้อไวรัส ช่วยชะลอความแก่ และเพิ่มคุณภาพน้ำเชื้อของกระต่าย นอกจากนั้นยังช่วยในการเพิ่มความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ผลผลิตหนังกวาง
หนังกวางเมื่อทำการฟอกแล้ว จะได้หนังที่มีความนิ่ม สวยงาม และทนทานเป็นพิเศษ

** แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถึงเขากวางอ่อนจะมีประโยชน์มากเพียงใด หากเลี่ยงที่จะบริโภคได้เป็นดีที่สุดครับ เพราะการบริโภคเพียง 1 คำ หรือการใส่เสื้อผ้าที่ทำจากหนังสัตว์ 1  ผืนเท่ากับการสละชีวิตสัตว์ 1 ตัว **



ดูแลสุขภาพ และโรงเรือนกวาง

จัดการทางด้านสุขภาพ และโรงเรือนกวางอย่างถูกวิธี

การเลี้ยงกวาง: สัตว์เศรษฐกิจ
ในการเลี้ยงกวางเพื่อการค้า หรือเพื่อส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ มีข้อจำกัดและมีการเลี้ยงหลัก ๆ อยู่ 2 แบบคือ
1. การเลี้ยงแบบขังคอก (คอกปิด) โดยจะหาอาหารหยาบให้กินในคอก แต่การเลี้ยงแบบนี้จะใช้พื้นที่ไม่มากนัก เหตุผลก็เพราะว่ารั้วที่ใช้กั้นคอกกวางมีราคาค่อนข้างสูง เพราะต้องใช้รั้ว Tight Lock อย่างเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อลดการบาดเจ็บจากการกระโดดชนรั้วของกวาง ซึ่งอาจใช้พื้นที่เพียงแค่ 50-100 ตารางเมตรต่อกวาง 1 ตัวเท่านั้น
2. การเลี้ยงแบบปล่อย (คอกเปิด) การเลี้ยงแบบนี้ต้องมีการลงทุนสูงในการทำรั้วกั้นคอก เนื่องจากกวาง 1 ฝูงสมควรจะมีแปลงหมุนเวียน โดยคำนวณจากอัตราส่วนการปล่อยกวางรูซ่าลงสู่แปลงหญ้า ซึ่งแปลงหญ้าที่มีคุณภาพดี จะใช้พื้นที่ประมาณ  2-3 ตัว/ไร่

โรงเรือนกวางที่ดี
1. พื้นโรงเรือนที่เหมาะสมควรเป็นที่สูง หรือที่ดอน 
2. ต้องมีเพิงกันแดด กันฝนให้กับกวางด้วย โดยเฉพาะลูกกวางที่เกิดใหม่ อาจนำตอไม้เก่าหรือยางรถยนต์เก่าใส่ไว้ในคอก เพื่อเป็นสถานที่ให้ลูกกวางได้หลบซ่อนบ้าง
3. ควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นร่มเงาในคอก และในกรณีที่มีการเลี้ยงกวางจำนวนมาก ควรมีคอกคัดกวาง เพื่อจัดการกวางเช่น การตัดเขา การฉีดยาเพื่อทำการรักษาสุขภาพกวางเป็นต้น

ดูแลสุขภาพกวางอย่างถูกวิธี
1. ต้องมีแหล่งน้ำสะอาดไว้สำหรับกวาง
2. หมั่นรักษาความสะอาดในโรงเรือน รางน้ำ รางอาหาร เป็นประจำ

3. ควรมีการถ่ายพยาธิกวางอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 6 เดือน

จัดการฟาร์ม + อาหารกวางอย่างถูกต้อง

ฟาร์มกวางและอาหารที่มีคุณภาพ
การเลี้ยงกวาง: สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
ในการจัดการฟาร์มกวาง อันดับแรกต้องจำกัดอัตราส่วนของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กวางให้เป็นระบบ ดังนี้
อัตราส่วนพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ คือ 1 / 20 -25 หรือในคอกกวาง 1 คอก ให้มีพ่อพันธุ์กวางจำนวน 1 ตัว และแม่พันธุ์กวางจำนน 20 – 25 ตัว กวางรูซ่าเพศเมียมีระยะอุ้มท้องประมาณ 240 - 252 วัน และมีระยะหย่านมประมาณ 6 เดือน น้ำหนักแรกเกิดของลูกกวาง หากเป็นกวางเพศผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 5 - 5.5 กก. หากเป็นกวางเพศเมียจะมีน้ำหนักประมาณ  4.5-5  กก. น้ำหนักลูกกวางที่หย่านมจนถึง 6 เดือนเพศผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 30 กก. ส่วนเพศเมียจะมีน้ำหนักประมาณ 28  กก.

อาหารสำหรับการเลี้ยงกวาง

อาหารหลักสำหรับกวางคือหญ้าหรือกิ่งไม้ใบไม้ต่าง ๆ  โดยกวางที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 50 - 60 กก. จะกินหญ้าสดคิดเป็นน้ำหนักแห้งประมาณ 2-2.5 % ของน้ำหนักตัว และควรให้อาหารข้นเสริมประมาณ 1-1.5 % ของน้ำหนักตัว (ใช้อาหารข้นโคนม หรือนมแพะ ที่มีโปรตีน 16-18 %) และที่สำคัญ ในการเลี้ยงกวางเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ หรือการค้า ควรมีการเสริมแร่ธาตุก้อนให้กับกวางด้วย 

กวางลูกผสมแซมบ้า-รูซ่า และเนื้อทราย

กวางลูกผสมแซมบ้า-รูซ่า: สัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ

สัตว์เศรษฐกิจ
กวางลูกผสมแซมบ้า – รูซ่า เป็นกวางที่มีลำตัวมีขนาดใหญ่กว่ากวางรูซ่าประมาณ 25-30 %  ลักษณะลำตัวมีสีน้ำตาลไหม้ – น้ำตาลดำ ส่วนบั้นท้ายของกวางบางตัวจะมีสีน้ำตาลแดง กวางลูกผสมสายพันธุ์นี้ มีลักษณะคล้ายกวางแซมบ้ามากกว่ากวางรูซ่า คือไม่ค่อยตื่นตระหนกหรืออกระโดดเท่าไรนัก เนื่องจากลำตัวมีขนาดใหญ่ อีกทั้งเป็นกวางลูกผสม จึงทำให้มีน้ำหนักและอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง ตัวใหญ่เหมาะในการเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจเพื่อการขุนเนื้อ กวางลูกผสมสายพันธุ์นี้ จะลดอาการตื่นตกใจและการกระโดดลงได้มาก ทำให้ลดต้นทุนในการทำรั้วกั้นคอกที่มีราคาค่อนข้างสูง และในการจับกวางจะต้องระมัดระวังขาหลังของกวางเป็นพิเศษ เพราะกวางจะมีความว่องไว อาจเกิดการบาดเจ็บได้ กวางสายพันธุ์นี้ มีอัตราการผสมติดและให้ลูกยังไม่สูงมากนัก ประมาณ 60-70 % แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป

เนื้อทราย  (Cervus porcinus)

เนื้อทราย: สัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ

สัตว์เศรษฐกิจ
ลักษณะโดยทั่วไปของเนื้อทราย  เนื้อทรายจัดว่าเป็นกวางขนาดเล็กตัวเตี้ย สีน้ำตาลเหลือง - น้ำตาลปนเทา โดยเนื้อทรายบางตัวที่ส่วนหลังจะมีจุดขาว เพศผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 45 – 50 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียจะมีน้ำหนักประมาณ 30  กิโลกรัม ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ชอบหากินในเวลาเย็นจนถึงยามค่ำมีความปราดเปรียว ความว่องไว และมีระยะเวลาตั้งท้องค่อนข้างเร็ว คือประมาณ 6 - 7 เดือน ทำให้มีการขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยขนาดของลำตัวที่เล็กกะทัดรัดจึงใช้อาหารในการเลี้ยงจำนวนน้อย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านอาหาร และแรงงานผู้ที่ดูแลได้เป็นอย่างดี แต่เนื้อทรายก็มีข้อเสียอย่างหนึ่งคือ เนื่องจากมีความปราดเปรียว ว่องไว จึงทำให้จัดการค่อนข้างยาก และเมื่อเกิดความเครียดจากการไล่ต้อน กวางเพศผู้จะหันไปทำร้ายลูกกวางและกวางตัวอื่นทันที

กวางแซมบ้า และกวางแดง

กวางแซมบ้า : สัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตามอง

สัตว์เศรษฐกิจ
กวางแซมบ้า กวางไทย กวางม้า หรือ กวางป่า (Cervus unicolor) เป็นกวางที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวสีน้ำตาลไหม้-น้ำตาลดำ  กวางเพศผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย  250 กก. ส่วนเพศเมียจะน้ำหนักเฉลี่ย  155  กก. กวางสายพันธุ์นี้ จะออกหากินในเวลาเย็น เมื่ออากาศร้อนจะชอบหลบนอนตามพุ่มไม้ ชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ มีนิสัยไม่ค่อยตื่นตระหนกเท่าไรนัก กวางสายพันธุ์นี้จะไม่กระโดด เนื่องจากตัวมีขนาดใหญ่  ชอบกินใบไม้และชอบนอนแช่ปลัก แช่โคลนตมเช่นเดียวกับกระบือ กวางแซมบ้าเป็นกวางที่มีถิ่นกำเนิดในเขตประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร ลาว พม่า จึงสามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพการเลี้ยงในฟาร์ม กวางสายพันธุ์นี้มีลำตัวขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตทางด้านเนื้อ และเขากวางอ่อนมากกว่ากวางรูซ่ามากเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตามอง มีราคาค่อนข้างสูง สามารถปรับพฤติกรรมการกินโดยขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้ ได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีข้อเสียคือเนื่องจากกวางชนิดนี้ชอบอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ จึงต้องใช้เพศผู้จำนวนมากในการคุมฝูง โดยใช้อัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมีย 1 : 7 - 8 ตัว ในปัจจุบันกวางไทยมีจำนวนน้อย ทำให้ราคาค่อนข้างสูง และยังหาซื้อได้ยากอีกด้วย

กวางแดง: สัตว์เศรษฐกิจ
กวางแดง  (Cervus elaphus) สัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ

สัตว์เศรษฐกิจ

กวางแดงมีถิ่นกำเนิดในแถบยุโรป และเอเชียบางส่วน ลักษณะโดยทั่วไปจะมีขนสีน้ำตาลเกือบหมดทั้งตัว มีความสูงประมาณ  1.2 - 1.5  เมตร  น้ำหนักโดยรวม  95 - 300  กิโลกรัม มีนิสัยขอบอยู่รวมกันเป็นฝูง  แต่เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ กวางแดงก็จะแยกเป็นฝูงตัวผู้และฝูงตัวเมียคนละส่วนกัน กวางแดงชอบกินหญ้าและใบไม้ตามป่าโปร่ง  กวางแดงเพศเมียจะมีความสมบูรณ์พันธุ์เมื่ออาจุประมาณ  18 - 30  เดือน  มีรอบการเป็นสัด  18  วัน และจะตั้งท้องนาน  233  วัน  ให้ลูกครั้งละ  1  ตัว ข้อดีของกวางชนิดนี้ก็คือ จะเป็นกวางขนาดใหญ่  ให้ผลผลิตเขาอ่อน และให้ผลผลิตเนื้อที่สูงกว่ากวางสายพันธุ์อื่น แต่ก็มีข้อเสียคือ เนื่องจากเป็นกวางที่มีถิ่นกำเนิดในแถบยุโรปจึงค่อนข้างมีปัญหาเรื่องสุขภาพเมื่อนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจในบ้านเรา  

กวางรูซ่า และกวางฟอลโล

กวางรูซ่า สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่

การเลี้ยงกวาง สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังมาแรง
กวางรูซ่า : สัตว์เศรษฐกิจ
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) กำหนดให้กวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง อีกทั้งกรมป่าไม้ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2537) ตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ให้กวางเป็นสัตว์ป่าชนิดที่สามารถขออนุญาตเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์ได้

กวางรูซ่า: (สัตว์เศรษฐกิจ)
การเลี้ยงกวาง สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังมาแรง
กวางรูซ่า (Cervus timorensis)

สัตว์เศรษฐกิจ
กวางรูซ่าเป็นกวางขนาดกลาง ลำตัวสีน้ำตาล - น้ำตาลไหม้ เพศผู้ที่โตเต็มที่จะสูงประมาณ 1.1-1.3 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 80-120 กก. ส่วนเพศเมียจะน้ำหนักประมาณ 50-60 กก. เป็นกวางที่ออกหากินในเวลาเย็นจนถึงยามค่ำ ชอบอยู่รวมฝูงใหญ่ เป็นกวางที่ค่อนข้างตื่นตกใจง่าย และกระโดดได้สูงมากประมาณ 1.5 -  2 เมตร            ข้อดีของกวางรูซ่าก็คือ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี มีอัตราการผสมติดค่อนข้างสูง คือประมาณ 90 %  สามารถผสมข้ามพันธุ์กับกวางป่า (กวางแซมบ้า) ได้และให้ลูกที่มีน้ำหนักตัวมากกว่ารูซ่าพันธุ์แท้เสียอีก กวางรูซ่าเพศผู้ 1 ตัว สามารถคุมฝูงเพศเมียได้ 25-30 ตัว ดังนั้นจึงลดต้นทุนในการเลี้ยงกวางเพศผู้จำนวนมาก แต่ก็มีข้อเสียเนื่องจากกวางรูซ่ามีนิสัยค่อนข้างตื่นตระหนก และกระโดดได้สูง ผู้ที่คิดเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจชนิดนี้ ต้องลงทุนใช้รั้วตาข่ายกั้นคอกที่มีความยืดหยุ่น และ มีความสูงประมาณ 2 เมตร ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง 

กวางฟอลโล: สัตว์เศรษฐกิจ
กวางฟอลโล (Dama dama) สัตว์เศรษฐกิจทางด้านท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

สัตว์เศรษฐกิจ
กวางฟอลโลมีถิ่นกำเนิดในยุโรป เมดิเตอร์เรเนียน และเอเชียไมเนอร์
ลักษณะโดยทั่วไปของกวางฟอลโลคือ ตัวผู้จะมีสีน้ำตาลจุดขาว สีเทาแกมเหลืองให้เห็นเด่นชัด  ส่วนหน้าหนาวจะมีสีน้ำตาลเทามีจุดน้อย และมีหางยาว ส่วนเขาจะแบนแผ่กว้างแตกแขนงมาก  มีความสูงประมาณ 1 เมตร น้ำหนัก 50 - 80 กิโลกรัม ชอบหากินในป่าโปร่ง  กวางฟอลโลจะมีนิสัยขี้ขลาดตื่นกลัวอยู่ตลอดเวลา ตัวเมียจะสมบูรณ์พันธุ์เต็มที่เมื่ออายุ  2  ปี  รอบการเป็นสัด  18.2  วัน  ตั้งท้องนาน  226 - 230  วัน  ให้ลูกครั้งละ  1  ตัว ข้อดีของกวางฟอลโลคือ จะเป็นกวางที่มีความสวยงามอยู่ในตัว ประกอบกับลำตัวที่มีขนาดเล็กทำให้จัดการดูแลง่าย เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม   ส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยว แต่ก็มีข้อเสียนั่นก็คือ กวางสายพันธุ์นี้จะผสมพันธุ์เป็นฤดู มีขนาดเล็กให้ผลผลิตน้อยไม่เหมาะสำหรับเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (เพื่อการค้า) และเนื่องจากเป็นกวางที่มีถิ่นกำเนิดในแถบยุโรป จึงค่อนข้างมีปัญหาเรื่องสุขภาพเมื่อเลี้ยงในเมืองไทยเรา