Translate

การผสมพันธุ์ของนกกระจอกเทศ

การผสมพันธุ์ และการวางไข่ของนกกระจอกเทศ : สัตว์เศรษฐกิจ

สัตว์เศรษฐกิจ
นกกระจอกเทศตัวเมียที่เจริญเติบโต และมีความสมบูรณ์เต็มที่ เต็มวัย มีความพร้อม และเหมาะสม หรือพร้อมที่จะเป็นแม่พันธุ์จะอยู่ในช่วงอายุ 18 เดือน ส่วนนกกระจอกเทศตัวผู้ จะอยู่ในช่วงอายุ 24 เดือน แต่การผสมพันธุ์ไม่สามารถกระทำได้ทันทีนะครับ คือจะต้องปล่อยให้นกกระจอกเทศทั้งคู่อยู่ด้วยกันประมาณ 6 เดือนก่อน และในการจัดผสมพันธุ์ของนกกระจอกเทศ จะต้องแยกเป็นคู่ ๆ ภายในคอก ซึ่งล้อมด้วยตาข่ายเหล็กสูงประมาณ 1 เมตรเศษ และในโรงเรือนของนกกระจอกเทศ ควรจะปรับสภาพหน้าดินให้เป็นพื้นทรายไว้ เมื่อแม่นกกระจอกเทศออกไข่ ก็จะสามารถนำไข่มาเข้าตู้ฟักได้เลย และที่สำคัญผู้เลี้ยงจะต้องคอยสังเกตดูพฤติกรรมของนกกระจอกเทศให้ดีว่า พ่อแม่พันธุ์ของนกกระจอกเทศคู่ใดที่สามารถเข้าคู่กันได้ดี จึงเหมาะที่จะนำมาตรวจสอบสายพันธุ์ เพราะนกกระจอกเทศทั้งสองตัวจะต้องไม่มีสายเลือดเดียวกันอย่างเด็ดขาด โดยนกกระจอกเทศทุกตัวจะต้องมีเบอร์ติดที่คอ มีการทำประวัติ และฝังไมโครชิบไว้ตั้งแต่อายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น

การวางไข่ของนกกระจอกเทศ

นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ
หลังจากที่นกกระจอกเทศผสมพันธุ์กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แม่นกจะยังอาศัยอยู่ในโรงเรือนก่อน) ผู้เลี้ยงนกกระจอกเทศก็จะสามารถนำไข่มาเข้าตู้ฟักได้ทันที

ข้อควรรู้เกี่ยวกับแม่นกกระจอกเทศ
1. แม่นกกระจอกเทศตัวที่แข็งแรง สมบูรณ์เต็มวัย สามารถให้ไข่สูงสุดประมาณ 80 ฟองต่อปี แต่ถ้าแม่นกมีอายุมากขึ้น แม่นกกระจอกเทศก็จะให้ไข่ในปริมาณที่น้อยลงตามวัยที่มากขึ้นด้วย
2. แม่นกกระจอกเทศที่มีการเจริญเติบโต สมบูรณ์เต็มวัย สามารถให้ไข่ได้ดีที่สุดในช่วงอายุ 5-10 ปี
3. ตามข้อมูลผู้เพาะเลี้ยงในต่างประเทศพบว่า แม่นกกระจอกเทศสามารถให้ไข่ได้จนถึงอายุ 40 ปี

ระยะเวลาการฟักไข่ของนกกระจอกเทศ

นกกระจอกเทศ: สัตว์เศรษฐกิจ
หลังจากที่แม่นกกระจอกเทศให้ผลผลิตไข่แล้ว ผู้เลี้ยงจะนำไข่ของนกกระจอกเทศเข้าตู้ฟัก ลูกนกกระจอกเทศที่ฟักเป็นตัวแล้วจะถูกแยกมาเลี้ยงในโรงเรือนอนุบาลลูกนกประมาณ 1 เดือน ถึงจะปล่อยไปอยู่รวมกันด้านนอก ที่เป็นโรงเรือนเลี้ยงลูกนกจนอายุครบ 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะแยกไปอยู่อีกโรงเรือนหนึ่ง พอนกกระจอกเทศอายุครบ 6 เดือน ก็จะย้ายไปเลี้ยงรวมกันกับนกกระจอกเทศตัวอื่นๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ ซึ่งมีอายุประมาณ 18 - 24 เดือน จึงจะแยกนกกระจอกเทศออก และเลี้ยงเป็นคู่ๆ เพื่อให้ผสมพันธุ์กันต่อไป

ที่มา: นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ฉบับที่ 74 เดือนเมษายน ปี 2544